หน้าแรก / บทความทั้งหมด / Data Driven Marketing กลยุทธ์การตลาด 5.0 ที่พลาดไม่ได้
Data Driven Marketing กลยุทธ์การตลาด 5.0 ที่พลาดไม่ได้
การทำการตลาดมักเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ปฏิเสธไม่ได้ว่า Data Driven Marketing คือ กลยุทธ์การตลาด 5.0 ที่ปัจจุบันได้รับความนิยมอย่างมาก เป็นกลยุทธ์ที่นำ Data ของผู้บริโภคมาปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจ โดยสามารถเก็บ Data ได้จาก ระบบ CRM เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยในการทำการตลาด และเป็นประโยชน์อย่างมากในการทำธุรกิจในยุคปัจจุบัน
มาทำความรู้จักการทำการตลาดยุคใหม่ Data Driven Marketing คืออะไร ? สำคัญต่อธุรกิจอย่างไร ? การทำ Data Analytics รวมถึง ความรู้เกี่ยวกับข้อมูลประเภทต่าง ๆ ที่ผู้บริหารธุรกิจและนักการตลาดไม่ควรพลาด สามารถติดตามอ่านได้ในบทความนี้
สารบัญเนื้อหา
Data Driven Marketing คืออะไร? สิ่งที่เจ้าของธุรกิจไม่ควรพลาด
Data Driven Marketing คือ การตลาดที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (ของลูกค้า) นับว่าเป็นการทำการตลาดแบบใหม่ เนื่องจากข้อมูลคือสิ่งที่ทำให้เราเข้าใจ รู้จักลูกค้าได้ดี ว่าลูกค้ามีความชอบ ความสนใจ หรือมีความต้องการไปในแนวทางไหน และทำให้เราสามารถเสนอสินค้าและบริการให้ตรงความต้องการของลูกค้า เพื่อให้ลูกค้ารู้สึกเป็นเหมือนคนสำคัญ เราจึงจะสามารถรักษาลูกค้าได้อย่างต่อเนื่องในระยะยาวได้
การทำ Data Driven Marketing จึงเป็นเหมือนกระบวนการจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อที่จะทราบถึงความต้องการของลูกค้าในทุกแง่มุม ตั้งแต่เริ่มต้น ไปจนถึงการปิดการขาย โดยข้อมูลนั้นอาจจะมาจากการปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าโดยตรง, ระบบ CRM หรือจากแพลตฟอร์มต่าง ๆ หากเป็นธุรกิจบริการก็สามารถเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลได้ โดยการใช้ โปรแกรมคลินิก
อย่างไรก็ตาม การเก็บข้อมูลจากลูกค้าในปัจจุบัน จะต้องอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือ PDPA (Personal Data Protection Act)
Data Driven Marketing สำคัญต่อธุรกิจอย่างไร?
Data Driven Marketing เป็นกลยุทธ์การทำการตลาดที่นิยมมากและมักจะได้ผลอย่างชัดเจนในการทำการตลาดยุคใหม่ เนื่องจากการทำธุรกิจในปัจจุบันมีการแข่งขันทางการตลาดค่อนข้างสูง องค์กรธุรกิจที่มีข้อมูลของลูกค้ามากที่สุด ก็มีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จมากที่สุดเช่นกัน
เนื่องจากมีข้อมูลที่ทำให้เข้าใจพฤติกรรม สิ่งที่ชอบ ไม่ชอบ และแรงจูงใจในการเลือกสินค้าของลูกค้า จึงสามารถนำข้อมูลเหล่านี้มาเป็นประโยชน์ในการนำเสนอ ปรับปรุง พัฒนาสินค้าหรือบริการของธุรกิจตนเอง และการทำ Data Driven Marketing ยังเหมือนเป็นตัวช่วยในการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าได้ดีกว่าการตลาดแบบดั้งเดิมอีกด้วย
รู้จักการทำ Data Analytics
เนื่องจากข้อมูลของลูกค้ามีบทบาทสำคัญในการทำการตลาดยุคใหม่มากขึ้น ธุรกิจต่าง ๆ จึงเริ่มหันมาสนใจใช้กลยุทธ์การตลาด Data Driven Marketing ต้องมีการเก็บข้อมูลจำนวนมหาศาล จากนั้นจึงนำข้อมูลมาวิเคราะห์ (Data Analytics) เพื่อนำไปพัฒนา สินค้าหรือการบริการ
กล่าวคือ การตลาดแบบ Data Driven Marketing เป็นเหมือนกระบวนการเก็บรวบรวม ติดตามแก้ไขและการทำ Data Analytics เพื่อนำข้อมูลไปใช้ให้เกิดประโยชน์ทางธุรกิจต่อไป จึงเป็นสิ่งที่เจ้าของธุรกิจจึงควรให้ความสำคัญ โดยปัจจุบันนิยมใช้ระบบซอฟแวร์เป็นเครื่องมือช่วย เพราะสามารถจัดการข้อมูลได้ง่ายและมีประสิทธิภาพ
แต่อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าการทำ Data Driven Marketing นั้นมักเกิดข้อมูลจำนวนมาก จึงได้มีการแบ่งข้อมูลออกมาเป็น 3 ประเภท ซึ่งข้อมูลแต่ละประเภทจะมีความแตกต่างกัน และมีการนำมาใช้ประโยชน์ที่แตกต่างกันอีกด้วย โดยประเภทข้อมูลแบ่งออกได้ ดังนี้
First Party Data
First Party Data คือ ข้อมูลที่องค์กรเป็นผู้เก็บรวบรวมจากลูกค้าด้วยตัวเองโดยตรง เช่น ชื่อ, ที่อยู่, เบอร์โทร, อีเมลล์, อาชีพ, ข้อเสนอแนะ ฯลฯ รวมถึงความต้องการและพฤติกรรมของลูกค้า ที่รวบรวมผ่านระบบซอฟแวร์ หรือช่องทางอื่น ๆ เช่น การเข้าเว็บไซต์ การคลิกบนเว็บไซต์ ฯลฯ
ข้อมูลประเภทนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่มีมูลค่ามากและเป็นหัวใจสำคัญของการทำ Data Driven Marketing มีประโยชน์ในการทำการตลาดแบบเฉพาะเจาะจงรายบุคคลมากที่สุด องค์กรใดที่ไม่มีการเก็บ First Party Data เท่ากับพลาดโอกาสสำคัญในการทำธุรกิจที่ของยุคนี้
ประโยชน์ First Party Data
- องค์กรเป็นเจ้าของข้อมูลเองโดยตรง
- สามารถนำข้อมูลมาใช้ได้อย่างอิสระ เพราะเป็นเจ้าของข้อมูลเองโดยตรง (ทั้งนี้ต้องอยู่ภายใต้กฎ PDPA)
- ล็อคกลุ่มเป้าหมายได้อย่างแม่นยำในระดับบุคคล
- คาดการณ์ความต้องการของลูกค้าในอนาคตโดยคำนวณสถิติจากข้อมูลที่บันทึก
- ข้อมูลมีความเที่ยงตรง เชื่อถือได้
Second Party Data
Second Party Data คือ First Party Data ของธุรกิจคนอื่น ซึ่งการที่จะนำ Second Party Data มาทำให้เกิดประโยชน์กับธุรกิจตนเอง ควรคำนึงถึงกลุ่มลูกค้าที่มีความคล้ายคลึง เกี่ยวข้อง หรือสามารถเชื่อมโยงเข้ากับธุรกิจของเราได้ โดยวิธีการที่จะได้ข้อมูลส่วนนี้มักจะเป็นการ ซื้อ-ขาย ข้อมูล หรือการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันกับองค์กรที่มีประโยชน์ทางธุรกิจร่วมกัน
ประโยชน์ Second Party Data
- เพิ่มฐานลูกค้าได้จากการหากลุ่มคนที่มีพฤติกรรม ความชอบหรือข้อมูลที่คล้ายกับกลุ่มลูกค้าเดิม
- เพิ่มประสิทธิภาพในการทำการตลาด
- สามารถสร้างสรรค์แคมเปญให้เกิดความแปลกใหม่ แตกต่างจากเดิมได้
Third Party Data
Third Party Data คือ ข้อมูลต่าง ๆ ที่รับมาจากแหล่งข้อมูลภายนอก วิธีที่จะได้ข้อมูลในส่วนนี้ทำได้โดยการรับซื้อข้อมูลจากศูนย์รวบรวมข้อมูลขนาดใหญ่จากแพลตฟอร์มต่าง ๆ กลุ่มธุรกิจหรือนิติบุคคล แต่ข้อมูลประเภทนี้ เราจะไม่สามารถเชื่อมโยงไปถึงบุคคลที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าของข้อมูลได้โดยตรง
ประโยชน์ของ Third Party Data
- เข้าถึงฐานข้อมูลกลุ่มผู้ใช้ได้กว้าง ได้ข้อมูลที่หลากหลาย
- เป็นข้อมูลที่หาง่าย และพร้อมใช้งาน ไม่ต้องเสียเวลาในการรวบรวมข้อมูลเอง
สรุปส่งท้าย First, Second และ Third Party Data แบบสั้นๆ
การทำ Data Driven Marketing นั้นต้องอาศัยข้อมูลมาช่วยในการทำการตลาด ไม่ว่าจะเป็น First Party Data คือ ข้อมูลหลักที่เราเป็นเจ้าของ ที่เราเก็บรวบรวมเอง, Second Party Data ก็คือ First Party Data ของคนอื่น และ Third Party Data ข้อมูลจะแหล่งอื่นที่หาได้ง่าย ขอบเขตของข้อมูลกว้างกว่า Data ประเภทอื่นๆ ในโลกธุรกิจข้อมูลเป็นตัวตัดสินหรือตัวชี้ทางเลยก็ว่าได้ ผู้ที่ถือข้อมูลที่เยอะกว่า ครบกว่าจะสามารถมองเห็นช่องทางการทำกำไรได้มากกว่า แม่นยำกว่า
“ Without big data, you are blind and deaf and in the middle of a freeway.” — Geoffrey Moore
ตัวอย่าง Case Study การนำ Data-Driven มาใช้ประโยชน์จาก Netflix
ยกตัวอย่างกรณีศึกษาอย่าง Netflix บริการสตรีมมิงที่นำเสนอสื่อเพื่อความบันเทิงหลากหลายแนวที่ประสบความสำเร็จได้โดยมีการนำ Data-Driven มาปรับใช้ในการทำธุรกิจ โดยประสบความสำเร็จในหลาย ๆ ด้าน ทั้งด้านลูกค้า พฤติกรรมลูกค้า และด้านอื่นๆ สามารถแวะชมคลิปสั้นดีๆจาก JobsDB Thailand ด้านล่างได้เลย
สรุป ความสำเร็จของ Netflix จากการใช้ Data-Driven
- ด้านลูกค้า : Netflix จะเลือกสื่อที่ลูกค้าชื่นชอบหรือสื่ออื่น ๆ ที่มีความคล้ายกับสิ่งที่ลูกค้าชอบค้นหา แสดงขึ้นบนหน้าฟีด โดยเป็นการเลือกแบบเฉพาะเจาะจงรายบุคคล
- การสร้าง Poster : Netflix จะสร้างโปสเตอร์ที่เหมาะกับกลุ่มลูกค้าประเภทนั้น ๆ
- การแลกเปลี่ยน Data : มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลลูกค้าซึ่งกันและกันกับกลุ่มกับองค์กรธุรกิจในเครือพันธมิตร
- ด้านการบริหารธุรกิจ : Netflix จะใช้ Data ในการประชุม และการตัดสินใจในการลงทุน เช่น การที่จะซื้อหนังแต่ละเรื่องมาลงใน Platform ตนเองนั้น อาจจะใช้ข้อมูลจากการดูว่า กลุ่มลูกค้าไหนที่ชอบนักแสดงในหนังเรื่องนั้น และหนังเรื่องนั้นในภูมิภาคต่าง ๆ มีการเข้าชมมากแค่ไหน จากนั้นนำ Data มาคำนวณต่อว่าต้องใช้เงินลงทุนเท่าไหร่ เพื่อให้ได้กำไรตามเป้าหมายที่ต้องการ